เอสเธอร์ 1:7-22

เอสเธอร์ 1:7-22 พระคริสตธรรมคัมภีร์: ฉบับอ่านเข้าใจง่าย (THA-ERV)

เครื่องดื่ม​ต่างๆ​ใส่​อยู่​ใน​ถ้วย​ทองคำ และ​ถ้วย​ทุกใบ​ก็​แตกต่าง​กัน มี​เหล้าองุ่น​มากมาย​จาก​กษัตริย์ เพราะ​พระองค์​ใจดี ไม่มี​ข้อห้าม​สำหรับ​การดื่ม เพราะ​กษัตริย์​ได้​สั่ง​พวก​พนักงาน​ที่​อยู่​ใน​วัง​ทุกคน ให้​บริการ​เครื่องดื่ม​กับ​แต่ละคน​มาก​เท่าที่​เขา​ต้องการ ใน​ขณะ​เดียวกัน ราชินี​วัชที​ก็​ได้​จัด​งานเลี้ยง​ให้​บรรดา​ผู้หญิง​ที่​อยู่​ใน​วัง​ของ​กษัตริย์​อาหสุเอรัส​เหมือน​กัน ใน​วัน​ที่​เจ็ด​ของ​งานเลี้ยง เมื่อ​กษัตริย์​เริ่ม​มึนๆ​จาก​เหล้าองุ่น​แล้ว พระองค์​สั่ง​ให้​เมหุมาน บิสธา ฮารโบนา บิกธา อาบักธา เศธาร์ และ​คารคาส ผู้​เป็น​ขันที​ทั้ง​เจ็ด​ของ​พระองค์​ว่า ให้​ไป​นำ​ตัว​ราชินี​วัชที​มา​เข้าเฝ้า​พระองค์ ให้​นาง​สวม​มงกุฎ​มา​ด้วย เพื่อ​พระองค์​จะ​ได้​อวด​ความงาม​ของ​นาง​ต่อ​ประชาชน​ทั้งหลาย​และ​ต่อ​บรรดา​เจ้าหน้าที่ เพราะ​นาง​มี​ความ​งดงาม​ยิ่งนัก แต่​ราชินี​วัชที​ไม่ยอม​มา​เข้าเฝ้า​ตาม​คำสั่ง​ของ​กษัตริย์​ที่​สั่ง​ผ่าน​มา​ทาง​พวก​ขันที​เหล่านั้น กษัตริย์​จึง​โกรธ​และ​เดือดดาล​มาก ดังนั้น​พระองค์​จึง​ปรึกษา​พวก​ผู้รู้​ของ​พระองค์ ตาม​ปกติ​แล้ว​กษัตริย์​จะ​ปรึกษา​พวก​ผู้รู้​เหล่านี้ ใน​เรื่อง​กฎหมาย​และ​ขั้นตอน​ทาง​กฎหมาย ผู้รู้​พวกนี้​ใกล้ชิด​กับ​กษัตริย์​มาก พวกเขา​มี​ชื่อ​ว่า​คารเชนา เชธาร์ อัดมาธา ทารชิช เมเรส มารเสนา และ​เมมูคาน ผู้รู้​ทั้ง​เจ็ด​นี้​เป็น​เจ้าหน้าที่​ที่​สำคัญ​มาก​ของ​เปอร์เซีย​และ​มีเดีย พวกเขา​เข้าเฝ้า​กษัตริย์​อยู่​เป็น​ประจำ พวกเขา​มี​อำนาจ​มาก​ใน​อาณาจักร กษัตริย์​อาหสุเอรัส​ถาม​พวกเขา​ว่า “ตาม​กฎหมาย​แล้ว เรา​ควร​จะ​ทำ​ยังไงดี​กับ​ราชินี​วัชที ที่​นาง​ขัดขืน​คำสั่ง​ของ​กษัตริย์​ที่​ได้​สั่ง​ผ่าน​ไป​ทาง​พวก​ขันที” แล้ว​เมมูคาน​ได้​ตอบ​ต่อ​กษัตริย์ ต่อหน้า​เจ้าหน้าที่​ทั้ง​หลาย​ว่า “ราชินี​วัชที​ไม่​เพียง​แต่​ทำ​ผิด​ต่อ​กษัตริย์​เท่านั้น พระนาง​ยัง​ทำ​ผิด​ต่อ​เจ้าหน้าที่​ทุกคน​และ​ประชาชน​ทั้งหลาย ที่​อาศัย​อยู่​ใน​ทุก​มณฑล​ของ​พระองค์​ด้วย เพราะ​พวก​ผู้หญิง​ทุกคน​จะ​ได้ยิน​ถึง​สิ่ง​ที่​พระนาง​ได้​ทำไป แล้ว​พวกเขา​เหล่านั้น​จะ​พา​กัน​ดูถูก​สามี​ของ​ตน พวกเขา​จะ​อ้าง​ว่า ‘ตอน​ที่​กษัตริย์​อาหสุเอรัส​สั่ง​ให้​ราชินี​วัชที​เข้าเฝ้า พระนาง​ยัง​ไม่ยอม​ไป​เข้าเฝ้า​กษัตริย์​เลย’ ใน​วันนี้ พวก​ภรรยา​ของ​เจ้าหน้าที่​ใน​เปอร์เซีย​และ​มีเดีย ที่​ได้ยิน​ถึง​สิ่ง​ที่​ราชินี​ได้​ทำไป ก็​จะ​พูด​อย่างนั้น​เหมือน​กัน​กับ​สามี​ของ​พวกเขา​ที่​เป็น​เจ้าหน้าที่​ของ​กษัตริย์ และ​การ​ดูถูก​และ​ความ​โกรธ​เกรี้ยว​ก็​จะ​เกิดขึ้น​อย่าง​ไม่​รู้จัก​จบสิ้น ดังนั้น​ถ้า​พระองค์​เห็นด้วย ข้าพเจ้า​ขอ​แนะนำ​ว่า ให้​พระองค์​ออก​คำสั่ง​และ​ให้​จด​บันทึก​ไว้​ใน​กฎหมาย​ของ​เปอร์เซีย​และ​มีเดีย ที่​ไม่​สามารถ​เปลี่ยน​แปลง​ได้ คือ ราชินี​วัชที​ไม่อาจ​เข้าเฝ้า​กษัตริย์​อาหสุเอรัส​ได้​อีกต่อไป และ​พระองค์​จะ​มอบ​ตำแหน่ง​ราชินี​ของ​พระนาง ให้​กับ​หญิง​อื่น​ที่​ดีกว่า แล้ว​คำสั่ง​นี้​ของ​พระองค์ จะ​ถูก​ประกาศ​ไป​ทั่ว​ราช​อาณาจักร​อัน​ยิ่งใหญ่​ของ​พระองค์ แล้ว​พวก​ผู้หญิง​ทั้งหลาย​จะ​ได้​ให้​เกียรติ​สามี​ของ​ตน ไม่​ว่า​สามี​ของเขา​จะ​เป็น​คน​มีหน้า​มีตา​หรือ​คน​ต่ำต้อย​ก็ตาม” ทั้ง​กษัตริย์​และ​พวก​เจ้าหน้าที่​ทั้งหลาย​ของ​พระองค์ ต่าง​พอใจ​มาก​กับ​คำแนะนำ​นี้ ดังนั้น​กษัตริย์​จึง​ทำ​ตาม​คำแนะนำ​ของ​เมมูคาน จดหมาย​ได้​ถูก​ส่ง​ไป​ทั่ว​ทุก​มณฑล​ของ​พระองค์ โดย​เขียน​เป็น​ตัวอักษร​ของ​แต่ละ​มณฑล และ​เขียน​ถึง​แต่ละ​ชนชาติ​ตาม​ภาษา​ของ​พวกเขา​เอง จดหมาย​เหล่านี้​ได้​เขียน​ประกาศ​ว่า “ให้​ผู้ชาย​แต่ละคน​ปกครอง​ดูแล​ครอบครัว​ของ​ตน และ​ให้​พูด​ภาษา​ของ​ชนชาติ​ตัวเอง”

เอสเธอร์ 1:7-22 ฉบับมาตรฐาน (THSV11)

เครื่องดื่มก็ใส่ถ้วยทองคำหลายแบบส่งให้ดื่ม และเหล้าองุ่นของราชสำนักก็มีเหลือเฟือตามพระทัยกว้างขวางของกษัตริย์ การดื่มก็ทำกันตามพระบัญชาโดยไม่มีการยับยั้ง เพราะกษัตริย์มีรับสั่งไปยังข้าราชสำนักทุกคนว่า ให้ทำตามความพอใจของแต่ละคน ส่วนพระราชินีวัชทีก็ประทานการเลี้ยงแก่สตรี ที่ราชสำนักของกษัตริย์อาหสุเอรัสด้วย ในวันที่เจ็ด เมื่อพระทัยของกษัตริย์รื่นเริงด้วยเหล้าองุ่น พระองค์ทรงบัญชาเมหุมาน บิสธา ฮารโบนา บิกธา อาบักธา เศธาร์และคารคาส ขันทีทั้งเจ็ดผู้ปรนนิบัติกษัตริย์อาหสุเอรัส ให้ไปทูลเชิญพระราชินีวัชทีทรงมงกุฎเสด็จเข้าเฝ้ากษัตริย์ เพื่อจะให้ประชาชนและเจ้านายได้ชมพระสิริโฉม เพราะพระนางทรงงามยิ่งนัก แต่พระนางวัชทีทรงปฏิเสธไม่มาตามพระบัญชาของกษัตริย์ที่รับสั่งไปกับขันที เมื่อเป็นเช่นนี้กษัตริย์ก็ทรงเดือดดาล และพระพิโรธของพระองค์ก็ระอุอยู่ภายใน แล้วกษัตริย์จึงตรัสหารือกับพวกนักปราชญ์ ผู้ซึ่งรู้ระเบียบแบบแผน (เพราะนี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของกษัตริย์ต่อบรรดาผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายและการพิพากษา อันได้แก่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์คือ คารเชนา เชธาร์ อัดมาธา ทารชิช เมเรส มารเสนา และเมมูคาน เจ้านายทั้งเจ็ดแห่งเปอร์เซียและมีเดีย ผู้สามารถเข้าเฝ้ากษัตริย์ และมีตำแหน่งสูงในราชอาณาจักร) ว่า “จะต้องทำอย่างไรต่อพระราชินีวัชทีตามกฎหมาย? เพราะพระนางขัดขืนพระบัญชาของกษัตริย์อาหสุเอรัส ซึ่งรับสั่งไปกับขันที” เมมูคานจึงทูลต่อพระพักตร์กษัตริย์และต่อหน้าเจ้านายทั้งหลายว่า “พระราชินีทรงทำผิดไม่ใช่ต่อกษัตริย์เท่านั้น แต่ต่อเจ้านายทั้งหมดและต่อประชาชนทุกคนผู้อยู่ในมณฑลทั้งสิ้นของกษัตริย์อาหสุเอรัสด้วย เพราะการกระทำของพระราชินีจะรู้ไปถึงสตรีทุกคน ทำให้พวกนางดูหมิ่นสามีของตนเอง โดยพูดว่า ‘กษัตริย์อาหสุเอรัสมีพระบัญชาให้นำพระราชินีวัชทีมาเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ แต่พระนางไม่เสด็จมา’ ในวันนี้ นายผู้หญิงแห่งเปอร์เซียและมีเดียซึ่งได้ยินเรื่องการกระทำของพระราชินี ก็จะเล่าให้เจ้านายทั้งปวงของกษัตริย์ฟัง และจะเกิดการดูหมิ่นและความโกรธมากมาย ฉะนั้น ถ้าเป็นที่พอพระทัยกษัตริย์ ขอให้มีพระราชโองการจากพระองค์ และให้บันทึกไว้ในกฎหมายของคนเปอร์เซียและคนมีเดีย อย่างที่จะเพิกถอนไม่ได้ว่า พระนางวัชทีจะเข้าเฝ้ากษัตริย์อาหสุเอรัสอีกไม่ได้ และขอให้กษัตริย์ประทานตำแหน่งราชินีแก่ผู้อื่นที่ดีกว่าพระนาง ดังนั้นเมื่อกษัตริย์ทรงประกาศกฤษฎีกาทั่วพระราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ของพระองค์ สตรีทั้งปวงจะต้องให้เกียรติสามีของตน ไม่ว่าเขาจะมีฐานะสูงหรือต่ำ” คำทูลนี้เป็นที่พอพระทัยกษัตริย์และถูกใจเจ้านาย กษัตริย์จึงทรงทำตามที่เมมูคานทูลเสนอ พระองค์ทรงส่งพระราชสารไปทั่วทุกมณฑลของพระองค์ ถึงแต่ละมณฑลตามอักษรของมณฑลนั้น และถึงประชาชนทุกชาติตามภาษาของเขา ให้ชายทุกคนเป็นเจ้าเป็นนายในบ้านของตนและพูดตามภาษาชนชาติของตน

เอสเธอร์ 1:7-22 พระคัมภีร์ภาษาไทยฉบับ KJV (KJV)

เครื่องดื่มก็​ใส่​ถ้วยทองคำส่งให้ (เป็นถ้วยหลากชนิด) และเหล้าองุ่นของราชสำนักมากมายตามพระทัยกว้างขวางของกษั​ตริ​ย์ การดื่มก็กระทำกันตามกฎหมายที่​ไม่มี​การบังคับ เพราะกษั​ตริ​ย์ทรงมีพระกระแสรับสั่งไปยังพนักงานทั้งปวงว่า ให้​ทุ​กคนทำได้ตามใจปรารถนา พระราชินี​วัชที​ก็​พระราชทานการเลี้ยงแก่​สตรี​ในราชสำนักซึ่งเป็นของกษั​ตริ​ย์อาหสุเอรั​สด​้วย ณ วันที่​เจ​็ดเมื่อพระทัยของกษั​ตริ​ย์รื่นเริ​งด​้วยเหล้าองุ่น พระองค์​ทรงบัญชาเมหุ​มาน บิ​สธา ฮารโบนา บิ​กธาและอาบักธา เศธาร์ และคารคาส ขันที​ทั้งเจ็ดผู้​ปรนนิบัติ​ต่อพระพักตร์​กษัตริย์​อาหสุเอรัส ให้​ไปเชิญพระราชินีวัชทีสวมมงกุฎมาเฝ้ากษั​ตริ​ย์ เพื่อจะให้ประชาชนและเจ้านายของพระองค์​ได้​ชมสง่าราศีโฉมของพระนาง เพราะพระนางงามนัก แต่​พระราชินี​วัชทีทรงปฏิเสธไม่มาตามพระบัญชาของกษั​ตริ​ย์​ที่​รับสั่งไปกับขั​นที เมื่อเป็นเช่นนี้​กษัตริย์​ทรงเดือดดาล และพระพิโรธของพระองค์​ระอุ​อยู่​ในพระอุระ ฝ่ายกษั​ตริ​ย์จึงตรัสกับคนที่​มี​ปัญญาผู้ทราบกาลเทศะ (เพราะนี่เป็​นว​ิธีดำเนินการของกษั​ตริ​ย์ต่อบรรดาผู้​ที่​เจนจัดในกฎหมายและการพิพากษา ผู้​ที่​รองพระองค์​คือ คารเชนา เชธาร์ อัดมาธา ทารชิช เมเรส มารเสนา และเมมู​คาน เจ้​านายทั้งเจ็ดของเปอร์​เซ​ียและมีเดีย ผู้​เคยเข้าเฝ้ากษั​ตริ​ย์ และนั่​งก​่อนในราชอาณาจั​กร​) ว่า “ตามกฎหมายจะต้องกระทำอะไรต่อพระราชินีวัชที เพราะว่าพระนางมิ​ได้​ปฏิบัติ​ตามพระบัญชาของกษั​ตริ​ย์อาหสุเอรัสซึ่งรับสั่งไปกับขั​นที​” เมมูคานจึงทูลต่อพระพักตร์​กษัตริย์​และเจ้านายทั้งปวงว่า “​พระราชินี​วัชที​ได้​ทรงกระทำผิ​ดม​ิ​ใช่​ต่อกษั​ตริ​ย์​เท่านั้น แต่​ต่อเจ้านายทั้งปวงและประชาชนทั้งปวงผู้​อยู่​ในมณฑลทั้งสิ้นของกษั​ตริ​ย์อาหสุเอรัส เพราะสิ่งที่​พระราชินี​ทรงกระทำนี้จะเป็​นที​่ทราบแก่​สตรี​ทั้งปวง ทำให้​เขามองดู​สามี​ของเขาด้วยความประมาท เพราะเขาจะพูดว่า ‘​กษัตริย์​อาหสุเอรั​สม​ีพระบัญชาให้นำพระราชินีวัชทีมาต่อพระพักตร์​พระองค์ แต่​พระนางไม่เสด็จมา’ ในวันนี้​ที​เดียวเจ้านายผู้หญิงแห่งเปอร์​เซ​ียและมีเดียซึ่งได้ยินถึงสิ่งที่​พระราชินี​ทรงกระทำนี้ ก็​จะเล่าให้​เจ้​านายทั้งปวงของกษั​ตริ​ย์​รู้​ทั่วกัน ทำให้​มี​ความประมาทและความโกรธขึ้นเป็​นอ​ันมาก ถ้าเป็​นที​่พอพระทัยกษั​ตริ​ย์ ขอให้​มี​พระราชโองการจากพระองค์ และให้บันทึกไว้ในกฎหมายของคนเปอร์​เซ​ียและคนมีเดีย อย่างที่คืนคำไม่​ได้​ว่า ‘วัชที​จะเข้​าเฝ้ากษั​ตริ​ย์อาหสุเอรัสอีกไม่​ได้​’ และขอกษั​ตริ​ย์ประทานตำแหน่งราชินี​ให้​แก่​ผู้​อื่​นที​่​ดี​กว่าพระนาง ดังนั้นเมื่อกษั​ตริ​ย์ทรงประกาศกฤษฎี​กา ตลอดพระราชอาณาจักรของพระองค์ (อันกว้างใหญ่อย่างยิ่งนั้น) สตรี​ทั้งปวงจะต้องให้​เกียรติ​สามี​ของตน ไม่​ว่าสูงหรือต่ำ” คำทูลแนะนำนี้เป็​นที​่พอพระทัยกษั​ตริ​ย์และเจ้านาย กษัตริย์​จึงทรงกระทำตามที่เมมูคานทูลเสนอ พระองค์​ทรงมีพระอักษรไปทั่วราชมณฑลของกษั​ตริ​ย์ ถึงทุกมณฑลตามอักขระของมณฑลนั้น และถึงทุกชาติตามภาษาของเขา ให้​ชายทุกคนเป็นเจ้าเป็นนายในเรือนของตน และให้ประกาศกฤษฎี​กาน​ี้ตามภาษาของแต่ละชนชาติ

เอสเธอร์ 1:7-22 พระคัมภีร์ไทย ฉบับ 1971 (TH1971)

เครื่องดื่มก็ใส่ถ้วยทองคำส่งให้เป็นถ้วยหลากชนิด และเหล้าองุ่นของราชสำนักมากมาย ตามพระทัยกว้างขวางของพระราชา การดื่มก็กระทำกันตามกฎหมายที่ไม่มีการบังคับ เพราะพระราชาทรงมีพระกระแสรับสั่งไปยังพนักงานว่า ให้ทุกคนทำได้ตามใจปรารถนา พระราชินีวัชทีก็พระราชทานการเลี้ยงแก่สตรีในราชสำนัก ซึ่งเป็นของกษัตริย์อาหสุเอรัสด้วย ณ วันที่เจ็ดเมื่อพระทัยของพระราชารื่นเริงด้วยเหล้าองุ่น พระองค์ทรงบัญชา เมหุมาน บิสธา ฮารโบนา บิกธา และอาบักธา เศธาร์และคารคาส ขันทีทั้งเจ็ดผู้ปรนนิบัติพระราชาอาหสุเอรัส ให้ไปเชิญพระราชินีวัชทีสวมมงกุฎมาเฝ้าพระราชา เพื่อจะให้ประชาชนและเจ้านายของพระองค์ได้ชม พระสิริโฉมของพระนางเพราะพระนางงามนัก แต่พระนางวัชทีทรงปฏิเสธไม่มาตาม พระบัญชาของพระราชาที่รับสั่งไปกับขันที เมื่อเป็นเช่นนี้พระราชาทรงเดือดดาล และพระพิโรธของพระองค์ระอุอยู่ในพระอุระ ฝ่ายพระราชาจึงตรัสกับคนที่มีปัญญาผู้ทราบกาละ (เพราะนี่เป็นวิธีดำเนินการของพระราชาต่อบรรดา ผู้ที่เจนจัดในกฎหมายและการพิพากษา ผู้ที่รองพระองค์คือ คารเชนา เชธาร์ อัดมาธา ทารชิช เมเรส มารเสนา และเมมูคาน เจ้านายทั้งเจ็ดของเปอร์เซียและมีเดีย ผู้เคยเข้าเฝ้าพระราชา และนั่งก่อนในราชอาณาจักร) ว่า <<ตามกฎหมายจะต้องกระทำอะไรต่อพระราชินีวัชที เพราะว่าพระนางมิได้ปฏิบัติตามพระบัญชาของ กษัตริย์อาหสุเอรัสซึ่งรับสั่งไปกับขันที>> เมมูคานจึงทูลต่อพระพักตร์พระราชาและเจ้านายทั้งปวงว่า <<พระราชินีได้ทรงกระทำผิดมิใช่ต่อพระราชาเท่านั้น แต่ต่อเจ้านายทั้งปวงและประชาชนทั้งปวงผู้อยู่ใน มณฑลทั้งสิ้นของกษัตริย์ อาหสุเอรัส เพราะสิ่งที่พระราชินีทรงกระทำนี้จะ เป็นที่ทราบแก่สตรีทั้งปวง ทำให้เขามองดูสามีของเขาด้วยความประมาท เพราะเขาจะพูดว่า <กษัตริย์อาหสุเอรัสมีพระบัญชาให้นำพระราชินี มาต่อพระพักตร์พระองค์ แต่พระนางไม่เสด็จมา> ในวันนี้ทีเดียวเจ้านายผู้หญิงแห่งเปอร์เซียและ มีเดียซึ่งได้ยินถึงมรรยาทของพระราชินี ก็จะเล่าให้เจ้านายทั้งปวงของพระราชารู้ทั่วกัน ทำให้มีความประมาทและความโกรธขึ้นเป็นอันมาก ถ้าเป็นที่พอพระทัยพระราชา ขอให้มีพระราชโองการจากพระองค์ และให้บันทึกไว้ในกฎหมายของคนเปอร์เซียและคนมีเดีย อย่างที่คืนคำไม่ได้ว่า วัชทีจะเข้าเฝ้ากษัตริย์อาหสุเอรัสอีกไม่ได้ และขอพระราชาประทานตำแหน่งราชินีให้ แก่ผู้อื่นที่ดีกว่าพระนาง ดังนั้นเมื่อพระราชาทรงประกาศกฤษฎีกา ตลอดพระราชอาณาจักรของพระองค์ (อันกว้างใหญ่อย่างยิ่งนั้น) สตรีทั้งปวงจะต้องให้เกียรติสามีของตน ไม่ว่าสูงหรือต่ำ>> คำทูลแนะนำนี้เป็นที่พอพระทัยพระราชาและเจ้านาย พระราชาจึงทรงกระทำตามที่เมมูคานทูลเสนอ พระองค์ทรงมีพระอักษรไปทั่วราชมณฑลของพระองค์ ถึงทุกมณฑลตามอักขระของมณฑลนั้น และถึงทุกชาติตามภาษาของเขา ให้ชายทุกคนเป็นเจ้าเป็นนายในเรือนของตน และพูดตามภาษาชาติของตน

เอสเธอร์ 1:7-22 พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย (TNCV)

เหล้าองุ่นที่นำออกมาแจกจ่ายบรรจุในภาชนะทองคำ แต่ละใบมีรูปทรงและลวดลายไม่ซ้ำกัน กษัตริย์ทรงประทานเหล้าองุ่นหลวงให้ดื่มอย่างเหลือเฟือ แขกแต่ละคนดื่มได้ตามใจชอบ เพราะพระองค์ทรงบัญชาพนักงานฝ่ายเหล้าองุ่นให้นำมาบริการตามความพอใจของทุกคน พระราชินีวัชทีก็ทรงจัดงานเลี้ยงสำหรับเหล่าสตรีในราชสำนักของกษัตริย์เซอร์ซีสด้วย ในวันที่เจ็ดเมื่อกษัตริย์เซอร์ซีสสำราญพระทัยด้วยเหล้าองุ่นก็ตรัสเรียกขันทีประจำพระองค์ทั้งเจ็ดคือ เมหุมาน บิสธา ฮารโบนา บิกธา อาบักธา เศธาร์ และคารคัส ให้ไปทูลเชิญพระนางวัชทีสวมมงกุฎมาเข้าเฝ้าพระองค์ เพื่อให้ประชาชนและเหล่าขุนนางได้ยลโฉมเพราะพระนางทรงพระสิริโฉมยิ่งนัก แต่เมื่อคนเหล่านี้ไปทูลเชิญตามพระบัญชาของกษัตริย์ พระนางไม่ยอมมา กษัตริย์จึงทรงพระพิโรธยิ่งนัก เนื่องจากเป็นประเพณีที่กษัตริย์จะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายและความยุติธรรม พระองค์จึงตรัสกับเหล่านักปราชญ์ผู้เข้าใจยุคสมัย ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกษัตริย์ที่สุดได้แก่ คารเชนา เชธาร์ อัดมาธา ทารชิช เมเรส มารเสนา และเมมูคาน ขุนนางทั้งเจ็ดแห่งมีเดียและเปอร์เซีย ซึ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิพิเศษในการเข้าเฝ้ากษัตริย์และเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร พระองค์ตรัสถามว่า “กฎหมายระบุให้ทำอย่างไรบ้างกับพระนางวัชทีซึ่งไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของกษัตริย์เซอร์ซีสตามที่ให้ขันทีไปเชิญ?” แล้วเมมูคานทูลตอบต่อหน้ากษัตริย์และต่อหน้าเหล่าขุนนางว่า “พระนางวัชทีไม่ได้ทรงทำผิดต่อองค์กษัตริย์เท่านั้น แต่ต่อขุนนางและประชาราษฎร์ทั้งปวงในทุกมณฑลของกษัตริย์เซอร์ซีสด้วย เพราะหญิงทั้งปวงจะรู้ถึงการกระทำของพระนาง และจะพากันดูแคลนสามี และพูดกันว่า ‘กษัตริย์เซอร์ซีสทรงบัญชาให้พระราชินีวัชทีไปเข้าเฝ้า แต่พระนางไม่ยอมไป’ ในวันนี้บรรดาหญิงสูงศักดิ์แห่งมีเดียและเปอร์เซียซึ่งได้ยินการกระทำของพระนางวัชที ก็จะปฏิบัติต่อขุนนางของกษัตริย์ในทำนองเดียวกัน จะทำให้ขาดความเคารพและเกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด “ฉะนั้นหากฝ่าพระบาททรงดำริชอบ ขอให้ร่างพระราชโองการเป็นกฎหมายของชาวมีเดียและเปอร์เซียซึ่งจะล้มเลิกไม่ได้ ห้ามพระนางวัชทีเข้าเฝ้าฝ่าพระบาทอีก ทั้งให้ฝ่าพระบาทประทานตำแหน่งพระราชินีแก่คนอื่นซึ่งดีกว่าพระนาง เมื่อประกาศพระราชโองการนี้ทั่วราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลของฝ่าพระบาทแล้ว หญิงทั้งปวงจะเคารพสามี ตั้งแต่ผู้น้อยที่สุดไปจนถึงผู้ใหญ่ที่สุด” กษัตริย์และขุนนางทั้งปวงเห็นชอบในคำทูลนี้ ฉะนั้นกษัตริย์ทรงทำตามที่เมมูคานทูลเสนอ และมีพระราชสาส์นออกไปยังทุกมณฑลทั่วราชอาณาจักร เป็นภาษาถิ่นครบทุกภาษา ประกาศว่าผู้ชายทุกคนเป็นผู้ปกครองเหนือครัวเรือนของตน

เอสเธอร์ 1:7-22 พระคัมภีร์ ฉบับแปลใหม่ (NTV) (NTV)

เครื่อง​ดื่ม​ริน​ใส่​ถ้วย​ทองคำ ถ้วย​หลาก​ชนิด และ​มี​เหล้า​องุ่น​ของ​กษัตริย์​ให้​ดื่ม​โดย​ไม่​จำกัด เพราะ​กษัตริย์​ใจ​กว้าง การ​ดื่ม​เป็น​ไป​ตาม​คำ​สั่ง​ที่​ว่า “ไม่​มี​การ​บังคับ​ใดๆ” เพราะ​กษัตริย์​ได้​ออก​คำ​สั่ง​แก่​พนักงาน​ทุก​คน​ใน​วัง​ของ​ท่าน​ว่า แต่​ละ​คน​ทำ​ตาม​ความ​พอใจ​ของ​ตน ส่วน​ราชินี​วัชที​ก็​จัด​งาน​เลี้ยง​สำหรับ​ผู้​หญิง​ใน​วัง​ของ​กษัตริย์​อาหสุเอรัส​ด้วย ใน​วัน​ที่​เจ็ด เมื่อ​ใจ​ของ​กษัตริย์​หรรษา​ด้วย​เหล้า​องุ่น ท่าน​สั่ง​เมหุมาน บิสธา ฮาร์โบนา บิกธา อาบักธา เศธาร์ และ​คาร์คาส ผู้​เป็น​ขันที​ทั้ง​เจ็ด​ที่​รับใช้​กษัตริย์​อาหสุเอรัส ให้​พา​ราชินี​วัชที​มา​เข้า​เฝ้า​กษัตริย์ พร้อม​กับ​สวม​มงกุฎ​ของ​เธอ​ด้วย เพื่อ​ให้​ประชาชน​และ​บรรดา​เจ้า​ขุน​มูล​นาย​ได้​ชม​ความ​งาม​ของ​เธอ เพราะ​เธอ​รูป​งาม​ยิ่ง​นัก แต่​ราชินี​วัชที​ปฏิเสธ​คำ​บัญชา​ของ​กษัตริย์​ที่​รับสั่ง​ไป​กับ​ขันที กษัตริย์​จึง​กริ้ว​ยิ่ง​นัก​และ​ความ​โกรธ​ก็​เร่าร้อน​อยู่​ใน​ใจ กษัตริย์​จึง​กล่าว​กับ​ผู้​เรือง​ปัญญา​ว่า​ควร​จะ​ทำ​อย่างไร (เพราะ​เป็น​วิธี​การ​ของ​กษัตริย์​ที่​จะ​ปรึกษา​ผู้​ชำนาญ​กฎ​มนเทียรบาล​และ​การ​ตัดสิน​ความ และ​เป็น​คน​สนิท​ของ​กษัตริย์​ด้วย​คือ คาร์เช-นา เชธาร์ อัดมาธา ทาร์ชิช เมเรส มาร์เส-นา และ​เมมูคาน ซึ่ง​เป็น​เจ้านาย​ชั้น​ผู้ใหญ่​แห่ง​เปอร์เซีย​และ​มีเดีย เข้า​ถึง​ตัว​กษัตริย์​ได้​เสมอ​และ​มี​ตำแหน่ง​สูง​ใน​อาณา​จักร) กษัตริย์​ถาม​ว่า “จะ​ต้อง​ทำ​อย่างไร​ต่อ​ราชินี​วัชที​ตาม​กฎหมาย ใน​เมื่อ​เธอ​ไม่​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​บัญชา​ของ​กษัตริย์​อาหสุเอรัส​ที่​รับสั่ง​ไป​กับ​ขันที” เมมูคาน​จึง​กล่าว​ต่อ​หน้า​กษัตริย์​และ​บรรดา​เจ้านาย​ชั้น​ผู้ใหญ่​ว่า “ราชินี​วัชที​ไม่​เพียง​กระทำ​ผิด​ต่อ​กษัตริย์​เท่า​นั้น แต่​ผิด​ต่อ​บรรดา​เจ้านาย​ชั้น​ผู้ใหญ่​และ​ประชาชน​ทั้ง​ปวง​ใน​ทุก​แคว้น​ของ​กษัตริย์​อาหสุเอรัส​ด้วย เพราะ​การ​กระทำ​ของ​ราชินี​จะ​เป็น​ที่​ทราบ​กัน​ใน​บรรดา​ผู้​หญิง​ทั้ง​ปวง ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ให้​พวก​เขา​ดู​หมิ่น​สามี​ของ​ตน​เอง และ​จะ​พูด​กัน​ได้​ว่า ‘กษัตริย์​อาหสุเอรัส​บัญชา​ราชินี​วัชที​ให้​มา​เข้า​เฝ้า แต่​พระ​นาง​ก็​ไม่​มา’ ใน​วัน​นี้ บรรดา​ผู้​หญิง​ที่​เป็น​เจ้านาย​ชั้น​ผู้ใหญ่​แห่ง​เปอร์เซีย​และ​มีเดีย ที่​ทราบ​ถึง​การ​กระทำ​ของ​ราชินี ก็​จะ​พูด​เหมือน​กัน​แก่​บรรดา​เจ้านาย​ชั้น​ผู้ใหญ่​ของ​กษัตริย์ จะ​เกิด​การ​ดู​หมิ่น​ดู​แคลน​และ​ความ​โกรธ​เกรี้ยว​มาก​มาย ถ้า​หาก​ว่า​จะ​เป็น​ที่​พอใจ​ของ​กษัตริย์ ขอ​ให้​มี​คำ​สั่ง​ของ​ราช​สำนัก​ซึ่ง​เขียน​ระบุ​ใน​กฎ​ของ​ชาว​เปอร์เซีย​และ​ชาว​มีเดีย​ว่า นาง​วัชที​ไม่​มี​สิทธิ์​เข้า​เฝ้า​กษัตริย์​อาหสุเอรัส และ​จะ​ไม่​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​คำ​สั่ง​นี้ และ​ขอ​ให้​กษัตริย์​มอบ​ราช​ตำแหน่ง​แก่​ผู้​อื่น​ที่​เหมาะ​สม​กว่า​เธอ ดังนั้น​เมื่อ​มี​การ​ประกาศ​กฤษฎีกา​ของ​กษัตริย์​ทั่ว​อาณา​จักร​อัน​กว้าง​ใหญ่ ผู้​หญิง​ทั้ง​ปวง​ก็​จะ​ยกย่อง​สามี​ของ​ตน ทั้ง​ผู้ใหญ่​และ​ผู้น้อย” คำ​แนะนำ​นี้​เป็น​ที่​พอใจ​ของ​กษัตริย์​และ​บรรดา​เจ้านาย​ชั้น​ผู้ใหญ่ กษัตริย์​จึง​กระทำ​ตาม​ดัง​ที่​เมมูคาน​เสนอ ท่าน​ส่ง​สาสน์​ไป​ยัง​แคว้น​ต่างๆ ของ​กษัตริย์ ถึง​แต่​ละ​แคว้น​เป็น​ลาย​ลักษณ์​อักษร​ต้น​ฉบับ​แก่​ชน​ทุก​ชาติ​ใน​ภาษา​ของ​เขา​เอง คือ​ให้​ชาย​ทุก​คน​เป็น​เจ้านาย​ใน​ครัว​เรือน​ของ​ตน